อำเภอเมือง

ประวัติความเป็นมา

อำเภอเมืองสระบุรี  มีประวัติความเป็นมาโดยย่อ กล่าวคืออำเภอนี้  ตั้งอยู่ที่ตำบลปากเพรียวริมแม่น้ำป่าสักที่คลองแยกออกมา  คลองนี้มีลักษณะปากคลองกว้าง และเรียวไปตลอดทางคดไปคดมา  คลองนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า  “คลองเพรียว”  ตำบลที่ตั้งอยู่ในปากคลองนี้จึงเรียกว่า “ตำบลปากคลองเพรียว”  แต่เมื่อเรียกกันมากๆ  เข้าคำว่าคลองจึงตกหายไปจึงเรียกว่า  “ปากเพรียว” ซึ่งมาจากคำว่า  “ปากคลองเพรียว”  นั่นเอง อำเภอเมืองสระบุรีตั้งอยู่ในตำบลนี้ขึ้นต่อจังหวัดสระบุรี ซึ่งที่ตั้งศาลากลางจังหวัด  อยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้  จังหวัดสระบุรี  ครั้นต่อมาทางราชการเห็นว่าชื่ออำเภอที่มีชื่อว่า  อำเภอเมืองสระบุรีนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลปากเพรียว  และอยู่ห่างจากที่ตั้ง ศาลากลางจังหวัด  เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ จึงได้เปลี่ยนชื่อของอำเภอเป็นอำเภอ ปากเพรียว  ครั้นต่อมาได้มีการสร้างทางรถไฟจากนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (สมัยนั้น)  ไปยังจังหวัดนครราชสีมาได้ผ่านตำบลปากเพรียวการคมนาคมทางบกจึงสะดวกขึ้น ความเจริญของตำบลปากเพรียวจึงได้เจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการ  ให้ย้ายตัวที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสระบุรี จากตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ มาตั้งอยู่ที่ตำบลปากเพรียว  เป็นอำเภอเมืองสระบุรีตามเดิม เพื่อให้สมกับเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด จึงได้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบันนี้

สถานที่ตั้งตัวที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี  (หลังเดิม)  สร้างเมื่อ  พ.ศ.2469  ตั้งอยู่ที่ถนนพิชัยรณรงค์สงครามซอย  13  หลังศาลากลางจังหวัด  หรืออาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัด        ในปัจจุบันเป็นอาคารไม้ค่อนข้างคับแคบ  ไม่พอที่จะบรรจุเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ  ครั้นเมื่อ พ.ศ.2484   จึงได้ซ่อมแซมชั้นล่างเทคอนกรีตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติงาน  และได้ใช้อาคารหลังนี้ตลอดมาจนถึง  พ.ศ.2513   ทางราชการได้จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวน 500,000 บาท     มาให้ทำการปลูกสร้างอาคารใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  2  ชั้น  ตามแบบแปลนของ    กรมโยธาธิการซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของศาลากลางจังหวัดสระบุรี  ที่ว่าการอำเภอเมืองสระบุรี หลังใหม่นี้ นายสนิท  วิไลจิตต์  อธิบดีกรมการปกครอง (สมัยนั้น) ได้มาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่  26  พฤษภาคม  พ.ศ.2513  มี  นายประพจน์ เรขะรุจิ  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายแสวง  อินทุสุต  เป็นนายอำเภอเมืองฯ  ซึ่งได้เปิดใช้เป็นที่ปฏิบัติงานตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้

 แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น  อำเภอเมืองสระบุรี  จังหวัดสระบุรี

วัดพระพุทธฉาย 

              วัดพระพุทธฉาย  ตั้งอยู่เชิงเขาปถวี  (ปฐวี)  ที่ตำบลหนองปลาไหล  เข้าทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย  เป็นที่ประดิษฐาน  พระพุทธฉาย  หรือ  รอยพระพุทธรูป  อยู่บนแผ่นหิน   ซึ่งตั้งอยู่บนชะง่อนผา  มีการสร้างมณฑปครอบไว้  มีบันไดจากบริเวณวัดด้านล่างขึ้นไปยังมณฑป และต่อไปยังหน้าผาซึ่งอยู่เหนือมณฑปขึ้นไป   ติดกับเขตพุทธาวาสเป็นลำธาร มีหมู่บ้าน โรงเรียน  และค่ายลูกเสือพระพุทธฉาย  ค่ายลูกเสือประจำจังหวัดสระบุรี  เปิดเมื่อ  22  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2508  สถานที่ควรสนใจอีกประการคือ ด้านหน้าจากถนนแยกเข้าวัดพระพุทธฉาย ตรงไปอีก 4  กิโลเมตร  เป็นวนอุทยานแห่งชาติ  เขาสามหลั่น  สถานที่ทัศนศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจ  สมควรที่จะได้ชมเพื่อเป็นการศึกษาถึง ความงามตามธรรมชาติ  โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัดพระพุทธฉาย  มีดังนี้

1.  พระพุทธฉาย

การค้นพบพระพุทธฉาย สันนิษฐานว่า ได้ค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม  (พ.ศ.2163 – พ.ศ.2171)  สมัยที่ค้นพบพระพุทธฉายได้สร้างมณฑปครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้  เป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน  ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ  มาและเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง  เป็นต้น  จากพงศาวดารตำนานที่ปรากฏชัดว่า   “สมเด็จพระเจ้าเสือพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพาร  ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาท  เป็นต้น  จนถึงกษัตริย์พระองค์สุดท้ายสมัยกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉาย  ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรงุศรีอยุธยาฉบับ    พันจันทนุมาศ  (เจิม หน้า  484  ได้ กล่าวไว้ในบท  “สมโภชพระพุทธบาท”  เกี่ยวกับพระพุทธฉายว่า  ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ว่า  “ครั้นเดือนอ้ายเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธฉาย ค้างแรมอยู่  3  วัน  ฯลฯ  แล้วเสด็จกลับมาสมโภชพระพุทธบาท  7  วัน”

ภาพพระพุทธฉายต้นแบบ                           ภาพแนะวิธีดู

จากประวัติและพระราชพงศาวดารดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า  พระพุทธฉายได้เจริญมาสมัยหนึ่งแล้ว  ปรากฏจากหลักฐานและวัตถุโบราณ ที่ยังปรากฏเป็นหลักฐาน จนถึงปัจจุบันนี้  เช่น  มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทบนยอดเขาลม  เป็นต้น  แต่เนื่องจากภัยทางสงคราม บ้านเมืองไม่สงบสุข มีการรบทัพจับศึก  เกิดการระส่ำระสายเปลี่ยนแปลงแผ่นดิน บ้านเมืองเดือดร้อน
ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา  จนกว่าจะตั้งกรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ  ขึ้นเป็นเมืองหลวง  พระพุทธฉายก็ได้ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาช้านานจนชำรุดทรุดโทรมลงมณฑปเดิม
ซึ่งสร้างไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ศาสนสถานและถาวรวัตถุต่าง ๆ ขาดการดูแลเอาใจใส่  อีกทั้งภัยธรรมชาติได้ทำลายเสียหายเป็นอย่างมาก

กาลเวลาได้ผ่านมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธฉายอีกครั้งหนึ่ง  ตามศิลาจารึกที่ค้นพบเป็นหลักฐานว่า “พระพุทธศาสนาล่วงมาได้  2374  ปีมะโรง นักษัตรจัตวาศก มีพระคุณเจ้าสมภาร 4 วัด  คือ พระปลัดวัดปากเพรียว 1  สมภารวัดบางระกำ 1  สมภารดวงวัดเกาะเลิ่ง 1  และสมภารวัดบางเดื่อ 1  สมภารทั้ง  4  พร้อมทั้งญาติโยมได้มีอุตสาหะพากันมาบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธฉาย เป็นเวลาถึง  7  ปี และในปีที่  8  จึงพระมหายิ้ม  ได้ร่วมกับสมภารทั้ง 4   พร้อมด้วยญาติโยม ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากร  ระเบียงมณฑป ลงรักปิดทอง  บ้างจำลองลายสุวรรณอันบวร ปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ สร้างหอระฆัง สร้างศาลา  เป็นต้น ด้านบนยอดเขาได้บูรณะพระมณฑปและลานพระโมคคัลลานะ ขุดบ่อน้ำ บูรณะพระอุโบสถ  และตบแต่งสถานที่เป็นเวลาอีก  3  ปี จนถึงปีฉลูจึงเสร็จตามความประสงค์
ได้จัดมหกรรมฉลององค์พระพุทธฉาย  เมื่อปีเถาะ  เบญจศก” จากศิลาจารึกที่นำมาโดยสังเขปนี้
จะเห็นได้ว่าพระพุทธฉายได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาในระยะหนึ่ง  กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยะมหาราช  และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาฟื้นฟูบูรณะพระพุทธฉายทรงสร้างมณฑปขึ้นใหม่เป็นมณฑปสองยอดแทนมณฑปเดิม  และทรงบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ  มีเสนาสนะสงฆ์  เช่น  ศาลา พระอุโบสถบนยอดเขาลม  ปฏิสังขรณ์มณฑปยอดเดี่ยวบนยอดภูเขาด้านตะวันออก   ซึ่งยังเหลือเป็นอนุสรณ์อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้  นอกจากนั้นพระองค์พร้อมด้วย  พระราชวงศ์และข้าราชบริพาร  ยังได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายอีกหลายครั้ง ดังปรากฏในประวัติศาสตร์การประพาสต้นและจดหมายเหตุ  การบำเพ็ญพระราชกุศล นับเนื่องเกี่ยวกับพระพุทธฉาย  เกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ลัน  และพระอธิการรูปอื่นๆ  อีกมาก ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ  จปร.  ติดอยู่  ณ เงื้อมผาด้านทิศตะวันตกของมณฑปพระพุทธฉายพร้อมด้วยนามาภิไธยพระบรมวงศานุวงศ์  ซึ่งปรากฏชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้  ในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จมาพระพุทธฉายเป็นประจำ  จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอฯ ได้เสด็จมาทรงทอดผ้าพระกฐิน  เมื่อวันที่  3  พฤศจิกายน  พ.ศ.2516

พระพุทธฉายได้บูรณะซ่อมสร้างมาเป็นเวลาช้านาน  ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก       จนทางข้าราชการร่วมกับคณะสงฆ์เห็นว่าจะปล่อยทิ้งรกร้างไว้อีกต่อไปไม่ได้ปูชนียสถานที่สำคัญจะถูกทำลายลง  จึงได้ส่งพระครูพุทธฉายาภิบาล  (นาค  ปานรัตน์) มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ  พ.ศ.2491  เพื่อบูรณะซ่อมสร้างสถานที่พระพุทธฉายให้เจริญต่อไป เจ้าอาวาสได้ซ่อมแซมใหญ่ โดยซ่อมมณฑปที่ชำรุดซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่  5 ให้คงสภาพถาวรตามรูปทรงเดิม  แล้วก่อสร้างต่อเติมชานมณฑปด้านหลังเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขึ้นไปนมัสการ  ในปี พ.ศ.2498  ได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แทนหลังเดิมซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่  5  บนยอดภูเขาตามเดิม  ส่วนมณฑปเก่าครอบรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขายังคงไว้เป็นอนุสรณ์  ในลำดับต่อมาได้สร้างบันไดจากพื้นล่างด้านตะวันออกพระพุทธฉายขึ้นไปจนถึง  ยอดภูเขายาวประมาณ  270  ขั้น  เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน  จะได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูป  ปางต่างๆ  ข้างบน  และภายในพระอุโบสถ ได้บูชารอยพระพุทธบาทจำลอง  และชมวิวทิวทัศน์   อันสวยสดงดงามพร้อมด้วยบูชาสักการะพระรูปพระโมคคัลลานะ  ที่ได้สร้างขึ้นมาเมื่อ  พ.ศ.2526  ประดิษฐานอยู่ ณ ลานพระโมคคัลลานะ ในวิหารพระปฏิมากรเป็นประหนึ่งสังเวชนียสถาน อันจะเกิดเป็นกุศลผลบุญต่อไป

ใส่ความเห็น